วิธีการป้องกันโรคเกาต์
Gout Prevention
คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยโรคเก๊าท์
โรคเก๊าท์ เกิดจากความผิดปกติของระบบเมตาบอลิซึมของร่างกาย ซึ่งสัมพันธ์กับการมีปริมาณ กรดยูริคสูงในเลือด กรดยูริคถูกสร้างขึ้นในร่างกายจากการรับประทานอาหารที่มีปริมาณพิวรีนสูง สารพิวรีน มีมากในอาหารพวกเป็ดไก่ เครื่องในสัตว์ กุ้ง หอยนางรม หูฉลาม ผักชะอม กระถิน แตงกวา เครื่องดื่มพวก แอลกอฮอล์ และยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ โรคเก๊าท์ มักพบในผู้ป่วยที่ไม่ออกกำลังกาย และคนที่มีน้ำหนักตัวมาก พบมากในผู้ชายอายุเกิน 30 ปี ถ่ายทอดทางพันธุกรรม โรคเก๊าท์ ยังสัมพันธ์กับโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และโรคเบาหวานอีกด้วย
อาการโรคเกาต์
อาการ มักเกิดการอักเสบเฉียบพลัน บวม แดงร้อน ถ้าเกิดที่ข้อต่อของข้อใหญ่ๆ จะลุกไม่ไหว ส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่ข้อใดข้อหนึ่งของข้อต่อข้างเดียว เช่น ข้อศอก ข้อนิ้วมือ และข้อเท้า ข้อนิ้วหัวแม่เท้า ส้นเท้า
วิธีป้องกัน
1. ดื่มน้ำให้มากๆ เพราะถ้าดื่มน้ำน้อย จะทำให้ปัสสาวะออกน้อยตามไปด้วย กรดยูริคที่คั่งค้างอยู่ในร่างกายมาก เกิดการตกตะกอนเป็นผลึกอุดอยู่ตามข้อทำให้ปวด
2. ออกกำลังกายให้เหงื่อออกมากขึ้น การอบไอน้ำ สำหรับผู้ที่มีอาการแล้ว การออกกำลังกายที่ดี คือไม่ลงน้ำหนักที่ขามาก เช่น การเดิน การวิ่งเหยาะๆ การแกว่งแขน
3. งดอาหารจำพวก เนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ ดังที่กล่าวมา
4. รักษาด้วยยา แพทย์จะเป็นผู้แนะนำ และรับประทานยาให้สม่ำเสมอ
อาการผิดปกติที่ ควรรีบพบแพทย์
มีอาการปวดข้อต่างๆ เป็นระยะๆ แล้วค่อยๆ ทวีความปวดมากขึ้นๆ บางครั้งก็มีไข้ด้วย เพื่อความปลอดภัย และการรักษาอย่างต่อเนื่อง ควรมาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง
สิ่งที่ผู้ป่วยโรคเก๊าท์ นึกไม่ถึงก็คือ ผลึกของกรดยูริค ซึ่งมีความเข้มขึ้นในกระแสเลือดสูง จะไปตกผลึกในไต ทำให้เกิดไตวายเรื้อรังได้ ซึ่งเป็นอันตรายมาก แต่ผู้ป่วยมักไม่คำนึงถึงเพราะไม่เจ็บปวด ดังนั้น ผู้ป่วยโรคเก๊าท์ต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน คือ ไตวายเรื้อรังได้
ข้อมูลอัพเดท ณ วันที่ : 16 ตุลาคม 2566
|